โรคแพนิค หรือโรคตื่นตระหนก นับเป็นโรคทางจิตเวชที่เกี่ยวกับการทำงานของสมองเช่นเดียวกับโรคซึมเศร้าและโรคไบโพล่า ดังนั้นจึงจะแตกต่างจากเวลาที่เราตกใจหรือตื่นกลัวเวลาที่มีเหตุการณ์ต่างๆ มากระตุ้น
โดยคนที่ป่วยเป็นโรคแพนิคนั้น จะเกิดความตื่นกลัวขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุ ไม่เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่ คือนึกจะเกิดก็เกิดขึ้นมาเฉยๆ ซึ่งการเกิดขึ้นนี้เราจะเรียกว่า Panic Attack โดยจะแสดงออกมาเด่นชัดที่สุดเป็นอาการทางกาย ได้แก่
หัวใจเต้นเร็วมาก แรงมาก เหมือนจะหลุดออกมาจากอก
เหงื่อแตก
มือไม้สั่น ตัวสั่น
หายใจติดขัด หายใจได้ไม่เต็มปอด
แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน
โหวงเหวียง วิงเวียนไปหมด หน้ามืดจะเป็นลม
รู้สึกหวิวๆ รู้สึกเหมือนอยู่ในความฝัน
รู้สึกชา หรือซ่าๆ ตามปลายเท้า
รู้สึกหนาว หรือร้อนวูบไปทั้งตัว
รู้สึกกลัวมากๆจนควบคุมตัวเองไม่ได้ กลัวเป็นบ้า กลัวตาย
อาการแบบนี้อยู่ดีๆก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีอะไรมากระตุ้น และจะค่อยๆเป็นมากขึ้นจนเป็นหนักมากในช่วงประมาณ 10 นาที แล้วค่อยๆเบาลง หลังจากนั้นก็จะอ่อนเพลียหมดแรง แล้วผู้ป่วยก็จะรู้สึกกลัวมาก ไม่อยากจะเป็นแบบนี้อีก
ด้วยความที่โรคจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ และมีอาการรุนแรง คนที่ป่วยเป็นแพนิคหลายคนก็เลยกลัวการออกจากบ้านหรือทำการต้องทำกิจกรรมอะไรก็ตาม เพราะกลัวว่าจะเกิด Panic Attack ขึ้นอีก ซึ่งจริงๆแล้วความหวาดกลัว ความกดดันที่เกิดขึ้นนี้ก็ยิ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการได้มากขึ้นอีก กลายเป็นวงจรที่ไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าหากว่าคุณมีอาการตามนี้ ให้ลองไปปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัย โดยบอกอาการที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่เกิดขึ้นโดยไม่มีตัวกระตุ้น และเกิดขึ้นเป็นพักๆ เพราะโรคนี้สามารถรักษาให้ดีขึ้นหรือหายขาดได้ โดยใช้การรักษาทางยาควบคู่ไปกับการดูแลร่างกายจิตใจ
รับประทานยาที่หมอให้อย่างสม่ำเสมอ ไปพบหมอตามที่นัด ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด
ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน คุยกับนักจิตวิทยาเพื่อปรับความคิดเกี่ยวกับความกลัว ทำความรู้จักอาการที่กำลังเผชิญ และวิธีรับมือ เพื่อรับมือกับความกลัวเมื่อเกิดอาการ